SCiUS - Science Classrooms in University-Affiliated School Project | Silpakorn University 
SCiUS - PSC & SCSU
ความเป็นมา

     กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะเป็นองค์กรหลักในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศได้ริเริ่ม “โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย” (โครงการ วมว.) ขึ้น เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อพัฒนาเป็นฐานนักวิจัยซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพ และสร้างนวัตกรรมในภาคการผลิตและบริการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีประสิทธิผลของประเทศต่อไปในอนาคต และคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 24 เมษายน 2550 ได้มีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินงานโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย ในระยะแรก 5 ปี โดยเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2551 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตั้งอยู่ต่างภูมิภาคกันสี่แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยนำร่อง โดยมีโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โรงเรียนดรุณสิกขาลัย และโรงเรียน มอ. วิทยานุสรณ์ อยู่ในกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยดังกล่าวตามลำดับ ทั้งนี้ โรงเรียนทั้งสี่แห่งในโครงการ วมว. ได้ใช้หลักสูตรของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์สมบูรณ์แบบของประเทศไทยเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน และจัดทำกิจกรรมพัฒนาความสามารถของนักเรียน โดยมีอิสระในการบริหารจัดการและพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับศักยภาพ และทรัพยากร รวมทั้งความโดดเด่นทางวิชาการของมหาวิทยาลัย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 เป็นต้นมา
     โครงการ วมว. มีกำหนดระยะเวลาการดำเนินโครงการในขั้นต่ำ 5 ปี โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรห้องเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในปีงบประมาณ 2551 จำนวน 4 โรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย 4 แห่งดังกล่าวข้างต้น ต่อมาในปีงบประมาณ 2553 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มอีก 1 แห่ง คือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และในปีงบประมาณ 2554 ได้มีการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มอีก 2 แห่ง คือ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
     หลักสูตรห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย พุทธศักราช 2558 จัดเนื้อหาและสาระการเรียนรู้ครบถ้วนครอบคลุมหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ยังได้ออกแบบหลักสูตรเพิ่มเติมทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามบริบทและความโดดเด่นของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และให้เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักการและเหตุผลของการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว)