การสร้างกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระดับเยาวชน โดยคัดสรรผู้เรียนที่มีศักยภาพ (Talented/Gifted Students) เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาอย่างถูกทางและเหมาะสม ส่งเสริมให้อัจฉริยภาพที่มีอยู่เบ่งบานอย่างเต็มที่ และได้รับการพัฒนาเป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ อันจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ และสร้างนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคสังคม/ชุมชนต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาแบบทั่วไปของประเทศในปัจจุบันยังไม่สามารถรองรับการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนที่มีศักยภาพได้อย่างเต็มที่และครอบคลุมทั่วถึง แม้จะมีการส่งเสริมอัจฉริยภาพของนักเรียนกลุ่มนี้ในรูปแบบอื่นๆ อาทิ โรงเรียนวิทยาศาสตร์ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศ คือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่รับนักเรียนได้เพียงปีละ 240 คน แต่การทำห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่จัดกิจกรรมส่งเสริมประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังทำได้ในปริมาณที่น้อยมากไม่เพียงพอต่อการสร้างฐานกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่เป็นมวลวิกฤต (Critical Mass) ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาที่เฉพาะเจาะจงเพื่อรองรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
มหาวิทยาลัยศิลปากรและโรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัยได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการนี้และมีความพร้อมและศักยภาพที่เป็นเลิศทั้งทางด้านทรัพยากรทางกายภาพ ด้านทรัพยากรบุคคล และด้านการบริหารจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยศิลปากรมีห้องเรียนและห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยและเพียงพอพร้อมรองรับการจัดการเรียนการสอนของห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโครงการ วมว. อีกทั้งมีห้องปฏิบัติการเฉพาะด้านที่มีอาจารย์และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญพร้อมเป็นพี่เลี้ยงในการทำวิจัยของนักเรียนในโครงการ ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนและการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ถูกผนวกด้วยการเรียนรู้แบบ STEM (Science Technology Engineering Mathematics) ที่เรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ซึ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีความรู้ความสามารถที่จะดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในโลกศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความเป็นโลกาภิวัฒน์ ตั้งอยู่บนฐานความรู้ และเต็มไปด้วยเทคโนโลยี อีกทั้งวิชาทั้งสี่เป็นวิชาที่มีความสำคัญอย่างมากกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และความมั่นคงของประเทศ ส่วนโรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่มีประสบการณ์และความเป็นเลิศเป็นที่ประจักษ์ในการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนวิทยาศาสตร์อย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพสูงตลอดจนการผนวกการเรียนรู้แบบ STEM ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยศิลปากรมีการดำเนินการเปิดสอนหลายหลักสูตรที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่กำหนดโดยสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST) เพื่อการผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออนาคต ตัวอย่างเช่น หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์และงานยุติธรรมภายใต้การดูแลของคณะวิทยาศาสตร์ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่สนับสนุนการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพด้านนิติวิทยาศาสตร์ ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรของห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโครงการ วมว. มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงได้บรรจุรายวิชานิติวิทยาศาสตร์รวมทั้งรายวิชาต่าง ๆ ที่มีความสอดคล้องกับสาขาวิชาที่กำหนดโดย THAIST และเป็นความโดดเด่นทางงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกลุ่มวิชาเพิ่มเติม ได้แก่ รายวิชาด้านคณิตศาสตร์และสถิติ วิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ คอมพิวเตอร์แลเทคโนโลยีสารสนเทศ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน และนาโนเทคโนโลยี นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีเครือข่ายความร่วมมือด้านการเรียนการสอนและการวิจัยกับหลายองค์กรชั้นนำจากภาครัฐและเอกชนทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะส่งเสริมศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนและสร้างโอกาสให้นักเรียนโครงการ วมว. ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยลัยศิลปากรได้ศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจากนักวิทยาศาสตร์/นักวิจัยชั้นนำได้ ซึ่งส่งผลให้มหาวิทยาลัยศิลปากรมีความพร้อมและมีศักยภาพที่โดดเด่นในการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย ภายใต้การกำกับดูแลและการสนับสนุนของคณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและสามารถตอบสนองนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสร้างและพัฒนานักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่โดดเด่นและมีคุณภาพสูงเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต